ฮีโร่โอลิมปิกคนไหน จะรวยที่สุดในอาเซียน ?

ข่าวกีฬา

เรื่องเงินรางวัลมันก็เป็นสิ่งที่แฟนกีฬาให้ความสนใจ จะด้วยเพราะเหตุผลอะไรก็ชั่ง หากว่ามีนักกีฬาคนใดคว้าเหรียญโอลิมปิกมาได้ เหรียญโอลิมปิกนั้น ถือเป็นเหรียญรางวัลใหญ่และสูงสุดแล้ว ในรายการแข่งขันทั้งหมด แม้กระทั่งนักกีฬาอาชีพหลายคนก็ฝันอยากจะได้เหรียญมาคล้องคอ เพื่อเป็นเกียรติยศในชีวิตเช่นกัน และไม่ใช่แค่เหรียญเพราะเขาจะได้รางวัลตอบแทนอีกมากมาย ทั้งเงินและสิ่งของที่จับต้องได้ ยังรวมถึงหน้าที่การงานที่ดีมีความมั่งคงในชีวิตด้วย

ชาติอาเซียนในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ได้ไปแล้ว 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 4 เหรียญทองแดง และน่าจะยังไม่หยุดแค่นี้ เราลองมองไปที่เหรียญทองในอาเซียนของเรา จากข้อมูลล่าสุดนั้นผลงานของนักกีฬา “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เทควันโดสาวไทยที่ได้เหรียญทองในรุ่น 49 กก.หญิง ต่อด้วยเหรียญทองของ ไฮดิลีน ดิอาซ จอมพลังสาวฟิลิปปินส์ ในยกน้ำหนัก รุ่น 55 กก.หญิง ซึ่งเป็นเหรียญทองประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์ เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่เคยได้มาก่อน ( น่าเสียดายที่ไทยเราโดนตัดสิทธิ์แข่งขัน ) อินโดนีเซียก็มีแล้ว 1 เหรียญทองจากแบดมินตันหญิงคู่ สำหรับไทยจะมีอีกแน่ๆ 1 เหรียญ จาก ส่วน “แต้ว” สุดาพร สีสอนดี นักชกรุ่น 60 กก.หญิงที่เข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศแล้ว อย่างน้อยมีเหรียญทองแดงติดมือแล้ว ก็ต้องลุ้นกันต่อว่าจะสามารถคว้าเหรียญทองได้มั้ย

ขณะที่ชาติที่เคยได้เหรียญทองเมื่อ 5 ปีที่แล้ว อย่างเวียดนามและสิงคโปร์ ครั้งนี้ยังไม่มีเหรียญรางวัลติดมือ สิ่งที่น่าใจเมื่อเกิดฮีโร่ขึ้นแล้วคือ ฮีโร่เหล่านั้นจะได้รางวัลแห่งความสำเร็จเป็นอะไร เท่าไรกันบ้าง เช่น 

ดิอาซ จอมพลังฮีโร่เหรียญทองแรกของฟิลิปปินส์ จะได้รับรางวัลจากรัฐบาลเป็นเงิน 10 ล้านเปโซ หรือประมาณ 6 ล้านบาท แต่ไม่จบแค่นั้นสื่อฟิลิปปินส์รายงานว่า ยังมีเศรษฐีคนรวยคนดังและบริษัทห้างร้านอื่นๆ จะมอบรางวัลให้เธออีก ส่วนประธานาธิบดี โรดริโก้ ดูแตร์เต ก็ควักเงินส่วนตัวให้อีก 3 ล้านเปโซ คาดว่าเงินสดที่ ดิอาซ จะได้อยู่ที่ 36 ล้านเปโซ หรือกว่า 20 ล้านบาท นอกจากเงินสดแล้วยังมีบ้านและรถที่ ดิอาซ จะได้รับด้วย บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ในประเทศ ก็ประกาศอัดฉีดให้คอนโดมูลค่าเกือบ 8 ล้านบาท ในกรุงมะนิลาอีก บริษัทค่ายรถยนต์ก็จะมอบรถยนต์นั่งให้อีก 1 คัน 

ส่วนด้านฮีโร่สาวของไทยอย่าง พาณิภัค ที่เสร็จสิ้นภารกิจไปก่อนหน้านี้ จะได้รับเงินรางวัลจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 12 ล้านบาท เงินเดือนจากคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เดือนละ 12,000 บาท รวมเวลา 20 ปี เป็นเงิน 2.88 ล้านบาท สหพันธ์สมาคมกีฬาแห่งชาติ และชมรมกอล์ฟหลักสูตรสมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเพื่อความมั่นคงขั้นสูง 1 ล้านบาท, มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 1 ล้านบาท, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 3 ล้านบาท, บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 1 ล้านบาท, นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี 1 ล้านบาท รวมตอนนี้อยู่ที่ 21.88 ล้านบาท และน่าจะยังมีเพิ่มอีก

สำหรับสุดาพรที่ยังมีลุ้นมากกว่าเหรียญทองแดง ก็ต้องรอดูกันว่าจะทำผลงานได้เหรียญอะไร แต่คร่าวๆ ถ้าไปถึงเหรียญทอง น่าจะมีเงินติดบัญชีมากกว่า 20 ล้านบาทไปแล้ว นอกจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 12 ล้านบาทแล้ว สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทยก็ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะอัดฉีด 10 ล้านบาทถ้าได้เหรียญทอง ไม่นับรวมจากผู้ใหญ่ใจดีอื่นๆ อีกจำนวนมาก แต่ถ้าเป็นเหรียญเงิน จะได้รับเงินสด 7.2 ล้านบาท เหรียญทองแดง 4.8 ล้านบาท ยังไม่นับรวมเงินเดือนจากคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย

อินโดนีเซียที่ได้เหรียญเป็นกอบเป็นกำที่สุด ในชาติอาเซียนเวลานี้ มอบเงินอัดฉีดเหรียญทอง 5 พันล้านรูเปีย หรือ 10.38 ล้านบาท เหรียญเงิน 2 พันล้านรูเปีย หรือ 4.6 ล้านบาท และเหรียญทองแดง 1 พันล้านรูเปีย หรือ 2.3 ล้านบาท 

มาเลเซียจะมอบเงินอัดฉีดให้นักกีฬาที่ได้เหรียญทอง 237,000 ดอลลาร์สหรัฐ (7.6 ล้านบาท) เงินเดือนอีก 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ (38,400 บาท)  เหรียญเงิน 71,000 ดอลลาร์สหรัฐ (2.27 ล้านบาท) เงินเดือนอีก 700 ดอลลาร์สหรัฐ (22,400 บาท) และเหรียญทองแดง 24,000 ดอลลาร์สหรัฐ (7.7 แสนบาท) เงินเดือนอีก 470 ดอลลาร์สหรัฐ (15,000 บาท) 

แต่ถ้าพิจารณาจากประเทศที่อัดฉีดฮีโร่มากที่สุดต้องยกให้สิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์อัดฉีดเหรียญทอง 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (24 ล้านบาท) เหรียญเงิน 5 แสนดอลลาร์สิงคโปร์ (12 ล้านบาท) และเหรียญทองแดง 2.5 แสนดอลลาร์สิงคโปร์ (6.5 ล้านบาท) แล้วถ้าดูจากความยั่งยืนในการมอบเงินรางวัล เอสโตเนียทำได้น่าสนใจด้วยการมอบเป็นเงินเดือน สำหรับเจ้าของเหรียญทองจะได้รับ 5,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (176,000 บาท) หลังจากเข้าสู่วัยเกษียณแล้วจะได้รับเงินเพิ่มเข้าไปอีก เงินอัดฉีดที่มากมายขนาดนี้ เป็นผลตอบแทนการทำงานอย่างหนักมาตลอดทั้งชีวิต ของนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ วันที่กำเงินล้านในมือ ผู้คนอาจจะมองว่าเป็นวันที่มีความสุข แต่ตลอดเส้นทางที่ผ่านมาเขา เสียน้ำตา เสียเหงื่อ เจอกับความเจ็บปวดมามากมาย ผิดหวังล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งสิ่งที่ได้รับก็คุ้มค่าแล้วกับการลงทุนลงแรงไป มันยังเป็นสิ่งรูปธรรมที่กระตุ้นให้เด็กเยาวชน คิดอยากจะเดินตามในเส้นทางนี้ด้วย เพราะปัจจุบันกีฬาคืออาชีพที่ดีอย่างหนึ่ง เพียงแต่ต้องตั้งใจฝึกฝน มุ่งมั่นไม่ย่อท้อ ใช้ความพยายามนำหน้าครับ