โตเกียว 2020 วิกฤตโควิด-19 ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

ข่าวกีฬา

ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นจะเริ่มต้นขึ้น ก็ได้มีการประท้วงจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย เพราะกังวลว่าจะเป็นการขยายโรคระบาด สุดท้ายรัฐบาลก็ตัดสินใจเดินหน้าจัดต่อไป ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หลังจากผู้มีส่วนร่วมในการแข่งขันตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ไปกว่า 70 ราย

ขณะที่นายโทมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ก็บอกว่า การยกเลิกการแข่งขัน “ไม่เคยเป็นทางเลือกหนึ่ง” และทางญี่ปุ่นก็ออกมาประกาศว่า เกมการแข่งขันจะดำเนินไปโดยแบบไร้คนดูในสนาม ถึงตอนนี้มีคนที่มีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รวมถึงตัวนักกีฬา ตรวจพบว่าติดเชื้อไปแล้วกว่า 71 ราย นอกจากนักกีฬาแล้ว เจ้าหน้าที่เองก็ติดด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมาชาวญี่ปุ่นที่ทำงานบริเวณสถานที่จัดงานที่ต่าง ๆ และนอกจากนั้น ก็มีคณะกรรมการผู้จัด คณะกรรมการประจำชาติต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ติดตั้งเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขัน และนักข่าวด้วย ทั้งนี้ ตามสถานที่ต่าง ๆ ก็มีกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยทั้งเจ้าหน้าที่ผู้จัดงานและนักกีฬา ก็ต้องเข้ารับการตรวจเชื้อทุกวัน และให้บินกลับประเทศตัวเองทันทีวันรุ่งขึ้นเมื่อแข่งเสร็จ

แม้ตอนนี้ โตเกียวจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปจนถึงวันที่ 22 ส.ค. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ดีขึ้น เส้นกราฟที่ดิ่งลงได้กลายเป็นเส้นตรง และก็กำลังพุ่งสูงขึ้นอีก ผู้เชี่ยวชาญเคยออกมาบอกว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในกรุงโตเกียวต้องน้อยกว่า 100 ราย ถึงจะสามารถจัดการแข่งขันได้อย่างปลอดภัย ตอนที่ญี่ปุ่นเผชิญการระบาดหนักที่สุดในเดือน พ.ค. โรงพยาบาลในหลายพื้นที่ถึงกับรับมือไม่ไหว และหลายภูมิภาคของญี่ปุ่นก็ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อโตเกียวโอลิมปิกโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นจำกัดเวลาเปิดทำการของบาร์และร้านอาหาร รวมถึงข้อจำกัดเรื่องการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย นอกจากนี้ ผู้อาศัยอยู่ในโตเกียวได้รับการแนะนำให้เดินทางเฉพาะเวลาที่จำเป็นเท่านั้น ให้ใส่หน้ากากอนามัย แล้วก็ให้ทำงานที่บ้าน

ญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มต้นการฉีดวัคซีนเมื่อเดือน ก.พ. ซึ่งถือว่าช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดมาก มีการเร่งฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่างโตเกียวและโอซากา แต่ถึงวันที่ 18 ก.ค. มีประชาชนแค่ 33% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส และก็มีน้อยกว่า 22% ที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว 

สาเหตุหนึ่งมาจากกระบวนการการอนุมัติเกิดขึ้นช้า เพราะญี่ปุ่นยืนยันที่จะทำการทดลองของตัวเองไปพร้อม ๆ กับที่ประเทศอื่นทำและสาเหตุที่สองชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องวัคซีน เพราะกังวลเรื่องผลข้างเคียง มีงานวิจัยสำรวจพบว่า ญี่ปุ่นมีระดับความเชื่อมั่นในวัคซีนโควิด-19 ต่ำที่สุดในบรรดา 15 ประเทศที่ทำการศึกษา นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีกฎหมายที่กำหนดให้เฉพาะแพทย์ และพยาบาลเป็นผู้ฉีดวัคซีนได้เท่านั้น แต่ว่าต่อมามีการอนุญาตให้ทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ฉุกเฉิน และนักเทคนิคการแพทย์ช่วยฉีดด้วยได้

เรื่องญี่ปุ่นฉีดวัคซีนโควิด-19 ช้านั้นน่าคิด ทั้งที่มีความพร้อมเรื่องเงินทุนจัดซื้อ หรือจะให้สถานบันยาในประเทศตัวเองผลิตได้ก็ตาม มันมีเรื่องทฤษฎีสมคบคิดว่า โรคระบาดนี้เป็นความตั้งใจที่จะทำลายล้างมนุษย์ชาติของใครบางพวก และคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ผลิตด้วย พูดง่าย ๆ คือยังไม่ไว้วางใจวัคซีนในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ประมาทนะ เพราะมีการสั่งวัคซีนของบริษัทหนึ่งมาสำรองไว้กว่า 120 ล้านโดส เรียกว่าเก็บจนเก่าจะหมดอายุอยู่แล้ว ถึงได้เอามาเข้าร่วมเป็นประเทศผู้บริจาควัคซีนโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับบริจาคมาร่วม 1.5 ล้านโดส เมื่อต้นเดือนที่แล้ว พร้อมกับอีกหลายประเทศในอาเซียน ในภาวะการณ์คับขันเช่นนี้ การช่วยเหลือให้ยาเป็นเรื่องที่ดี และดีกว่าปฏิเสธไม่รับของ แต่ถ้ารู้ถึงเหตุผลที่มาที่ไปหน่อยก็ดี และวัคซีนอีกหลายชาติที่กำลังบอกบริจาคให้ไทยอยู่ตอนนี้ก็เหมือนกัน ถ้าของยังไม่หมดอายุให้มาก็ฉีดเถอะครับ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหนก็ตาม มันช่วยให้คนมีภูมิต้านทานขึ้น ไม่ป่วยหนักเกินไป ส่วนยาที่จะสามารถฆ่าเชื้อ ทำลายล้างไปจากร่างกายเมื่อติดโรคนั้น ต้องรอต่อไปหลายที่ก็เผยว่ากำลังทดลองในคนอยู่ครับ