อังกฤษแพ้ในนัดชิงชนะเลิศยูโร 2020 และนั่นอาจทำให้แฟนบอลหลายชาติดูจะชอบอกชอบใจ … อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ของทัพทรีไลออนส์ชุดนี้ นั่นคือ “ทรัพยากร” ที่พวกเขามี นี่คือทีมแห่งอนาคตที่เต็มไปด้วยนักเตะอายุน้อย ทีมชุดนี้ของอังกฤษยังสะสมกระดูกและใช้งานได้อย่างน้อยอีกเกือบ 10 ปี นักเตะชุดดังกล่าวเป็นผลผลิตของแต่ละสโมสร ที่กล้าผลักดันเด็กในอาคาเดมีตัวเองมากขึ้น นับตั้งแต่มีการตั้งกฎ “โฮมโกรว์น” ขึ้นมา กฎดังกล่าวมันส่งผลจริงหรือไม่ อังกฤษได้อะไรจากการบังคับใช้กฎนี้ ติดตามเรื่องราวกฎโฮมโกรว์น และวิวัฒนาการของทีมชาติอังกฤษได้ครับ
ย้อนกับไปสมัยต้นทศวรรษ 90 ฟุตบอลของประเทศอังกฤษ ได้มีการปฏิรูปองค์กรสมาคมฯ และก่อตั้งฟุตบอลลีกชั้นนำของประเทศขึ้นที่ชื่อว่า พรีเมียร์ ลีก จากวันนั้นถึงปัจจุบันวันนี้ได้รับการยอมรับว่า เป็นลีกที่ใหญ่และดีที่สุด มีนักเตะเก่ง ๆ มาอยู่มากที่สุด และเงินรางวัลผลตอบแทนมากมาย และยังเป็นลีกที่ทำให้นักเตะบางคนรุ่งโรจน์ และตกต่ำได้อีกด้วย เป็นเวทีที่นักเตะตั้งเป้าว่าจะมาค้าแข้งสักช่วงหนึ่งของชีวิต แน่นอนมีนักเตะต่างชาติเก็บกระเป๋าย้ายก้นมากันมากมาย จนสมาคมฟุตบอลอังกฤษเริ่มมองเห็นว่า นี่จะเป็นผลร้ายบนผลดี เพราะมีนักเตะต่างชาติเต็มสโมสรไปหมด นักเตะท้องถิ่นคนอังกฤษแท้ ๆ เริ่มโดนบีบออกและปิดโอกาสในเส้นทางอาชีพ ซึ่งมันจะส่งผลร้ายต่อนักฟุตบอลทีมชาติในอนาคต
สมาคมฟุตบอลอังกฤษ จึงได้มีการออกกฎที่ชื่อว่า “โฮมโกรว์น” โดยให้แต่ละสโมสรฯ สมารถขึ้นทะเบียนผู้เล่นในฤดูกาลแข่งขันได้ 25 คน โดยจะมีนักเตะต่างชาติได้ไม่เกิน 17 คน และต้องมีนักเตะอังกฤษอยู่ในทีมอย่างน้อย 8 คน หรือถ้าจะใช้นักเตะต่างชาติเพิ่มได้จะต้องมาอยู่กับสโมสรแล้วเป็นเวลา 3 ปี และมีอายุไม่เกิน 21 ปี จึงจะสามารถเพิ่มโคต้า “โฮมโกรว์น” ได้ ถามว่าผลตอบรับเป็นอย่างไร
ในภาพรวมก็ได้ความร่วมมือที่ดีมาก โดยเฉพาะกับทีมขนาดกลางไปถึงเล็ก เพราะพวกเขาไม่มีงบประมาณซื้อผู้เล่นต่างชาติดัง ๆ อยู่แล้ว ต้องอาศัยการปั้นนักเตะดาวรุ่งขึ้นมาเอง แต่กับทีมขนาดใหญ่ที่ต้องแย่งแชมป์ หรือลุ้นแชมป์กันทุกปี กลุ่มพวกนี้จะได้รับผลกระทบ
สโมสรฯ ใหญ่ต้องการความสำเร็จ และต้องการใช้เวลาน้อยที่สุด แต่ต้องโดนจำกัดเรื่องตัวผู้เล่น พวกเขาก็จะใช้วิธีดึงตัวนักเตะดาวรุ่งที่มีแววดีของทีมอื่น ๆ แล้วนำมาปั้นสร้างต่อในอาคาเดมีของตัวเอง จะใช้คำว่า ไปฉก แอบสูบ หรือหว่านล้อม ล่อใจ แบบนี้ก็ได้นะชัดเจนดีเลยล่ะ แล้วก็ทำให้นักเตะดาวรุ่งแบบนี้มีราคาค่าตัวเพิ่มสูงมาก บางสโมสรฯ ถือเป็นเป้าหมายวัตถุประสงค์หลักในการทำทีมเลยด้วยซ้ำ ทีมเล็กได้เงินจากการขายนักเตะในปี ๆ หนึ่งมากมาย
ในปี 2015 ได้มีการเปลี่ยนกฎเพิ่มเงื่อนไขใน “กฎโฮมโกรว์น” คือนักเตะที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี สามรถลงเล่นได้เลย ไม่จำเป็นจะต้องมาอยู่กับสโมสรฯ 3 ปีแล้ว ผลพวงจากกฎนี้ที่เปิดกว้าง ทำให้นักเตะอายุน้อยบางคนได้ลงเล่นกับทีมทันที หรือได้รับโอกาสลงสนามมากขึ้นในช่วงท้าย ๆ ของฤดูกาลแล้ว เป็นการพัฒนาตัวนักเตะและร่นระยะเวลาได้มาก ที่สำคัญทีมใหญ่สามารถใส่ชื่อเพิ่มในจำนวนนักเตะ ที่จะลงแข่งขันฟุตบอลถ้วยยุโรปได้อีกด้วย ช่วยให้นักเตะดาวรุ่งได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากรุ่นพี่ ๆ ในทีม และสัมผัสกับบรรยากาศการแข่งขันรายการสำคัญ ๆจากการปรับเปลี่ยน “กฎโฮมโกรว์น” ที่ให้ใช้งานนักเตะอายุต่ำกว่า 21 ปีได้แบบไม่มีข้อจำกัด มันทำให้สโมสรฯ ใหญ่กลับมาให้ความสำคัญกับการปั้นนักเตะของตัวเอง มีการพัฒนาศูนย์ฝึกเยาวชนให้มีมาตรฐาน ตั้งทีมแมวมองหาเด็กฝีเท้าดีจากทั่วโลก ซึ่งมันเป็นผลดีกับสโมสรระยะยาว และเป็นการลดงบประมาณซื้อนักเตะในแต่ละปี ส่วนทีมชาติอังกฤษก็ได้รับผลดีตามไปด้วย เพราะมีนักเตะเก่ง ๆ เข้ามาทดแทนจากรุ่นสู่รุ่นและมีมาตรฐานสูง เพราะผ่านการฝึกจากบุคลากรในสโมสรชั้นนำมาแล้ว อย่างเช่น ทีมชาติอังกฤษชุดปัจจุบันที่มีค่าเฉลี่ยรวมแค่ 20 ต้น ๆ เท่านั้น ซึ่งจะสามารถใช้งานพวกเขาเหล่านี้ได้อีกประมาณ 10 ปี ต่อไปขอให้จับตาดูทีมชาติอังกฤษให้ดี เวลาของพวกเขากำลังหมุนมาแล้วครับ